ตรวจโควิดเชิงรุก กทม.พบผู้ติดเชื้อแสดงอาการและไม่แสดงอาการ 2 ราย ขณะที่ภาพรวม กทม.พบผู้ติดเชื้อสะสม 1,349 คน อยู่ระหว่างการรักษา 366 คน รักษาหายแล้ว 25 ราย และมีรายงานผู้เสียชีวิตสะสม 19 ราย
วันที่ 17 เม.ย.2563 ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร 25/2563 รายงานวานนี้ว่าในพื้นที่กรุงเทพมหานครมียอดผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้น จำนวน 21 คน ยอดผู้ป่วยสะสมรวมจำนวน 1,349 คน ผู้ป่วยรักษาหายสามารถกลับบ้าน จำนวน 25 คน ยอดรวมผู้ป่วยรักษาหาย จำนวน 1,109 คน ผู้ป่วยอยู่ระหว่างการรักษา 366 คน เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย รวมผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 19 ราย
ขณะที่สรุปผลปฎิบัติการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 เชิงรุกวันที่ 16 เม.ย.63 สามารถควบคุมการแพร่ระบาดจากบุคคลทั้ง 2 ได้ โดยสำนักอนามัย กทม. ได้ส่งตัวผู้ติดเชื้อทั้ง 2 ราย เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในสังกัดเรียบร้อยแล้ว ส่วนการตรวจคัดกรองบุคคลในครอบครัวของผู้ยืนยันได้รับเชื้อทั้ง 2 ราย
ทั้งนี้ กทม.ได้เพิ่มความเข้มข้นโครงการ BKK COVID-19 ในระยะที่ 2 (Phase 2) เพื่อเข้าถึงกลุ่มเสี่ยงให้ได้มากที่สุดและรวดเร็วที่สุด โดยเริ่มจากผู้ที่มีความเสี่ยงสูงก่อน เนื่องจากตัวเลขของผู้ป่วยรายใหม่ปัจจุบันเป็นผู้ที่มีประวัติสัมผัสเสี่ยง อาทิ คนที่มีประวัติเป็นคนในครอบครัวเดียวกับผู้ป่วยรายเก่า คนที่ทำงานที่เดียวกัน หรือคนที่ทำกิจกรรมร่วมกัน จึงต้องทำการตรวจคนกลุ่มนี้ก่อน หลังจากนั้นจึงขยายไปยังกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยง และกลุ่มพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อไป
.
กลุ่มที่ไม่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิด แต่มีอาการเข้าข่ายหรือคิดว่ามีความเสี่ยง ให้ทำการคัดกรองและประเมินความเสี่ยงในเบื้องต้นทาง http://bkkcovid19.bangkok.go.th ระบบจะคัดกรองผ่านแบบประเมินประวัติเสี่ยง และการคัดกรองผ่านแบบประเมินอาการ ซึ่งเป็นแบบทดสอบที่ออกแบบโดยทีมแพทย์ นักวิชาการ ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และเป็นแบบฟอร์มที่ใช้จริงในโรงพยาบาลเพื่อการสอบสวนโรคของกลุ่มเสี่ยง
เมื่อประเมินผลแล้วระบบจะวิเคราะห์ว่าบุคคลนั้นจะอยู่ในกลุ่มใด จาก 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มไม่พบประวัติเสี่ยง (สีเขียว) กลุ่มเฝ้าระวัง (สีเหลือง) กลุ่มเสี่ยง (สีส้ม) และกลุ่มเข้าเกณฑ์สงสัย (สีแดง) เพื่อดำเนินการต่อให้เหมาะสม หากระบบประเมินว่ามีความเสี่ยง เจ้าหน้าที่จะโทรไปสอบถามอาการ ให้ความรู้ และทำการยืนยันอาการ
หากทำการประเมินแล้วพบว่าเป็นผู้ที่ต้องได้รับการตรวจ ระบบจะนัดผู้ที่ต้องได้รับการตรวจมาตรวจอาการด้วยวิธีการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่ง (SWAB) ที่จมูกและปาก และส่งไปทำ LAB ที่คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ซึ่งเป็นสถานที่ในการทำ LAB ที่ได้มาตรฐาน โดยระบบจะจัดพื้นที่ที่อยู่ใกล้บ้านของผู้ที่ต้องได้รับการตรวจ เพื่อความสะดวกของประชาชนไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล และช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อ
.
กทม.จะเก็บข้อมูลทั้งหมดเป็นความลับ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในการใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับบุคคลอื่น การตรวจผ่านระบบการประเมินตนเอง การโทรสอบถามอาการและยืนยันอาการ การตรวจปูพรมให้ถึงที่บ้านหรือชุมชนของผู้ที่ต้องได้รับการตรวจ และการรักษาพยาบาล ทุกขั้นตอนข้างต้นนั้นฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
ขอบคุณข่าวสาร workpointnews